เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ
3 เส้นมหัศจรรย์ หยุดผลิตพลาด ลูกค้าหาย!
9 กันยายน 2567
ธุรกิจเสียหาย เพราะคำว่า “กระจัดกระจาย” คำเดียวสั้นๆ ที่สั่นสะเทือนการทำขนมของ “วิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนด” อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ให้ต้องเจอกับความวุ่นวาย ที่ไม่เพียงจะผลิตสินค้าได้ไม่ครบ แต่ยังส่งได้ไม่ทันใจลูกค้าอีกด้วย เรื่องสุดหนักที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แก้ไขได้แค่ใช้ “การตีเส้น”
อ่านไม่ผิดหรอก! แค่ใช้ “การตีเส้น” จริงๆ ซึ่งเป็นเทคนิคแสนง่ายแต่อานุภาพทำประโยชน์สูงของทางโตโยต้า ที่เอกรัตน์ แผนเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยกนิ้วให้เลยว่าได้ผลดีเกินคาด
แล้ว “เส้น” ที่ว่าคือเส้นอะไร? และเข้ามาจัดการ “การกระจัดกระจาย” ในส่วนไหน? บ้านขนมแห่งนี้ถึงกลับมาฟื้นคืนชีพได้และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มาดูให้รู้กัน
เส้นที่ 1 : บอร์ดควบคุมการเข้า-ออก
เดี๋ยวลืม เดี๋ยวจด (ออร์เดอร์) คือการกระจัดกระจายแรกที่เอกรัตน์ต้องเจออยู่ทุกวัน ยิ่งจดใส่เศษกระดาษยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่รู้อยู่คนเดียว บางครั้งยังปลิวหายจนไม่ได้ผลิตให้ลูกค้า ไม่รู้ว่าใครมาสั่ง หรือไม่รู้ว่าสั่งเท่าไร
จนมาได้คำแนะนำจากโตโยต้าที่เริ่มต้นด้วยการลิสต์รายชื่อลูกค้าและทำข้อมูลลงตารางในกระดาษ A3 เช่น วันที่ซื้อ จำนวนที่สั่ง กำหนดส่ง ส่งทันหรือไม่ ถ้าไม่ทัน เป็นเพราะอะไร เพื่อจำลองแบบและประเมินผล จากนั้นจึงทำเป็นบอร์ดควบคุมการเข้า-ออกแบบใหญ่ ขนาด 90x120 ซม. เพื่อใช้จริงและติดตั้งที่ห้องผลิต ส่งผลให้รู้ข้อมูลการผลิตต่อเดือน และกำลังการผลิตในแต่ละวัน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะผลิตให้ลูกค้าได้เท่าไร แถมยังส่งของได้ทัน ส่งของได้ครบ และเรียกคนให้กลับมาซื้อซ้ำได้แบบจุกๆ
เส้นที่ 2 : Check Sheet ตารางเช็กของเสีย เช็กคุณภาพ
เส้นนี้ก็จึ้งไม่แพ้กัน เพราะเป็นการตีตารางตรวจสอบเศษขนมหน้าเตาที่พนักงานทำในแต่ละวันว่ามีปริมาณเท่าไร แต่เดิมเอกรัตน์จะทำการจดลงในกระดาษเป็นแผ่นๆ แต่ก็ยังไม่ทำให้เห็นถึงความสูญเสียในภาพรวม โตโยต้าเห็นถึงความตั้งใจตรงนี้ จึงแนะเคล็ดลับให้ทำเป็น Check Sheet เพื่อจดและเห็นข้อมูลได้แบบรายเดือนว่าใครทำแล้วมีเศษมากที่สุด เพื่อนำไปเทรนนิ่งเพื่อลดเศษให้น้อยลงต่อไป และตารางนี้นั้นก็ช่วยให้ลดปัญหาเรื่องนี้ได้ จากเดิมที่มีเศษขนมถึง 16.6 กก.ต่อเดือน เหลือเพียง 5.1 กก.ต่อเดือน นับว่าช่วยลดความสูญเสียจาก 2,988 บาทต่อเดือน เป็น 918 บาทต่อเดือน ประหยัดไปได้ถึง 2,070 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 69.3% เลยทีเดียว
อีก Check Sheet ก็เด็ดเช่นกัน เพราะเป็นตารางที่ช่วยเช็กความพร้อมของเตาที่ใช้ทำงานอยู่ทุกวัน แค่ระบุหมายเลขเครื่องของเตา 1-10 และดูสภาพว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ในแต่ละวัน โดยจะทำการติ๊ก ถูก ถ้าเครื่องอยู่ในสภาพดี และ ผิด หากต้องซ่อม เท่านี้ก็สามารถสร้างฐานข้อมูลประวัติของเตาแต่ละตัว ตัวไหนเสียก็ซ่อมทัน แถมงานยังเดินได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดผลิตและงานไม่ต้องสะดุดอีกด้วย
เส้นที่ 3 : เส้นแบ่งพื้นที่ เก็บสะดวก หยิบสบาย
มาถึงเส้นสุดท้าย ซึ่งเป็นคิวของการใช้เส้นแบ่ง เพื่อบ่งบอกอาณาเขตของการเก็บวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขนมแต่ละอย่างนั่นเอง ที่เมื่อก่อนนั้นทางวิสาหกิจชุมชนฯ จะทำการวางของทุกอย่างไว้รวมกัน จนต้องเสียเวลาในการหาหรือต้องรอ เป็นแบบนี้โตโยต้าจึงไม่รอช้า ยื่นมือเข้าไปช่วยสร้างชั้นวางของ พร้อมลากเส้นเทปกาวสีสันสดใสทำเป็นช่องๆ เพื่อเก็บของให้เป็นสัดส่วน และติดป้ายระบุว่าช่องนี้มีไว้สำหรับเก็บวัตถุดิบใด แค่นี้ก็มองเห็นของได้ง่าย หยิบได้สะดวก อะไรจะหมดก็เติมได้ทัน และช่วยเรื่องบริหารจัดการสต็อกให้ไม่บวมจนเงินจมได้ แถมยังดูดี ดูถูกสุขอนามัยกว่าที่เคย
และนี่เองคือคำเฉลยของ 3 เส้นสุดมหัศจรรย์ ซึ่งเปลี่ยนกิจการที่เคยต้องหวั่น เพราะผลิตไม่ทันและลูกค้าได้ของไม่ครบให้จบได้แบบทรงพลังเช่นนี้...