ใครๆ ก็อาศัยช่วงเวลาทองอย่าง High Season โกยเงินเข้ากระเป๋ากันทั้งนั้น แต่ที่ “วิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนด” อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี สถานการณ์กลับพลิกผัน เพราะโดนคำว่า “ไม่กล้ารับออร์เดอร์” เพราะ “กลัวทำไม่ทัน” สกัดกั้นจนต้องเสียโอกาสเพิ่มยอดขายไป
“ช่วง High Season ใกล้เทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม ยาวไปถึงเดือนมกราคม ถือเป็นช่วงที่จะมีการสั่งออร์เดอร์ขนมเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่เราไม่กล้ารับออร์เดอร์ เพราะกลัวทำส่งลูกค้าไม่ทัน กลัวเสียเครดิต เลยคว้าโอกาสทำเงินเอาไว้ไม่ได้” เรื่องสุดเจ็บที่ เอกรัตน์ แผนเจริญ ประธานกลุ่มต้องเผชิญมานานหลายปี
แต่เพราะลูกค้า = รายได้ การเตรียมตัวให้พร้อมรับศึกหนักในช่วงเทศกาลปลายปี-ต้นปี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ได้องค์ความรู้ของโตโยต้าเข้ามาช่วยแก้ไข และได้คำตอบที่ช่วยให้ธุรกิจลงตัวได้ ด้วยการเตรียม “คน วัตถุดิบ อุปกรณ์” ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- เตรียมพร้อม “คน” ลุยผลิต
เรื่องแรกที่ต้องเตรียมให้พร้อม ก็คือเรื่องของ “คน” ที่อื่นอาจจะใช้วิธีจ้างแรงงานเพิ่ม เพื่อให้มีกำลังการผลิตที่เพียงพอในช่วง High Season ซึ่งจะเป็นการไปเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจ และภายหลังจะทำให้จำนวนคนที่มีกับงานที่เข้ามาไม่สมดุลกันในช่วงเวลาปกติ ประธานวิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนด จึงเลือกที่จะทำการเพิ่มเวลาการทำงานของลูกน้องแทน จากปกติที่จะเริ่มม้วนขนมกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า-5 โมงเย็น ขยายเป็นตั้งแต่ตี 5-1 ทุ่ม เพื่อให้ผลิตได้ทัน โดยไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม แต่ไปเพิ่มรายได้ให้คนที่มีอยู่แทน
- เตรียมพร้อม “วัตถุดิบ” ให้เพียงพอ
เรื่องสำคัญอย่างที่ 2 นั่นก็คือเรื่องของ “วัตถุดิบ” ที่เกิดปัญหาบานปลาย เพราะธุรกิจไม่เคยรู้เลยว่า ในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนผลิตได้เท่าไร ซึ่งการไม่รู้กำลังการผลิตที่แท้จริงแบบนี้ ส่งผลให้การผลิตไม่ขาดก็เกินจากยอดออร์เดอร์ที่เข้ามา เลยเถิดไปจนไม่มั่นใจที่จะรับออร์เดอร์ในช่วง 4 เดือนห้ามพลาดไปแบบนั้น แต่การเข้ามาของโตโยต้าได้เรียกคืนความมั่นใจให้กลับมา ด้วยการทำบอร์ดรับงานเข้า-ออก ที่ทำให้รู้ว่า แต่ละวันนั้นผลิตได้ 8 หม้อ และสามารถเพิ่มเป็น 15 หม้อ หรือ 50% ได้ในช่วง High Season โดยที่ลูกค้าทุกรายได้รับสินค้าทันและครบจำนวนตามที่สั่ง ถือเป็นตัวช่วยพยากรณ์ให้วิสาหกิจชุมชนฯ สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจมีกำลังการผลิตได้เท่านี้ จะรับออร์เดอร์ได้เท่าไรโดยไม่หลงทาง
- เตรียมพร้อม “อุปกรณ์” ให้ทำงานได้ต่อเนื่อง
สุดท้ายเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือเรื่องของ “อุปกรณ์” ในที่นี้คือ เตาทองม้วน โดยทางวิสาหกิจชุมชนฯ ต้องกลุ้มทุกครั้งที่อยู่ๆ เตาก็มาพังตอน High Season พอดี ส่งผลให้การผลิตต้องหยุดชะงัก เกิดความล่าช้า และส่งของให้ลูกค้าได้ไม่ทัน แต่การทำ Check Sheet หรือตารางเช็กประวัติการซ่อมเตาทองม้วนตามคำแนะนำของโตโยต้า ได้เข้ามากู้สถานการณ์ เพียงแค่ในแต่ละวันคอยเช็กเตาทุกเครื่องให้ดี และลงเป็นข้อมูลไว้ว่า จากเตาหมายเลข 1-10 นั้น เครื่องไหนใช้งานต่อได้ หรือเครื่องไหนเสียต้องซ่อม แล้วนำไปซ่อม เพื่อให้ทันในช่วงของ High Season ซึ่งจะช่วยให้ทำการผลิตได้อย่างไม่มีสะดุด นอกจากนี้ ยังมีเตาสำรองไว้หมุนใช้งาน ทดแทนเตาที่ต้องนำไปซ่อม เพื่อให้ยอดการผลิตไม่ตกอีกด้วย
และนี่คือ 3 เรื่องที่วิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ ปรับทัพเร่งความพร้อม เพื่อต้อนรับการมาของช่วงเวลาทองแห่งการขายและการสร้างรายได้โดยไม่ต้องตกขบวนอีกต่อไป นับเป็นกลยุทธ์น่าใช้ที่ธุรกิจอื่นก็สามารถนำไปลองดูได้ จะได้ไม่พลาดโอกาสเหมือนที่บ้านขนมแห่งนี้เคยเป็นมา