เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

วิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนด

8 กรกฎาคม 2567

เป็นธรรมดาที่ธุรกิจจะมุ่งเป้าไปที่การมียอดสั่งซื้อให้มากที่สุด แต่รู้ไหมว่าเรื่องที่คิดว่าธรรมดาแบบนี้แหละ กลับย้อนมาทำร้ายธุรกิจตัวเองได้อย่างเจ็บสุดๆ เหมือนที่ “วิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนด” อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ได้ประสบมาเพราะไม่ทันคิดว่า การมุ่งไปข้างหน้า โดยไม่เหลียวมองเรื่องของหลังบ้านจะเป็นตัวฉุดรั้งธุรกิจอยู่เงียบๆ จนรายได้ที่ควรจะถึงมือต้องหลุดลอยไป แต่โชคดีที่ได้องค์ความรู้ของโตโยต้า จากโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เข้ามาช่วยได้ทันเวลา ทำให้ “หน้าบ้านก็ขายดี หลังบ้านก็แข็งแกร่งและสุดแสนจะเป็นระบบ”

ไฟแรง...มุ่งทะยานไปแต่ข้างหน้าเป็นเหตุ

“มีลูกค้าสั่งมาเท่าไรเราก็รับหมด โดยที่ไม่รู้ว่าเรามีกำลังพอที่จะผลิตจริงหรือเปล่า” ที่มาของปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่กำลังถูกเปิดเผยให้เห็นโดย เอกรัตน์ แผนเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนด ที่เล่าให้ฟังว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนทั้งหมด ที่ถูกแก้ได้อยู่หมัดด้วยการใช้หลักของ Toyota Production System (TPS) หรือ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และการทำ Kaizen เข้ามายกระดับศักยภาพให้ทุกเรื่องของหลังบ้านสามารถสนับสนุนการขายของหน้าบ้านได้แบบเต็มสูบ  

 

ตั้งสติ...หันหลังมองหลังบ้าน

ดังนั้น 5 เรื่องหลักของหลังบ้านที่เคยถูกมองข้าม จึงถูกนำเข้ามาอยู่ในสปอตไลต์ เพื่ออัพเลเวลความสามารถให้ผลิตได้ทุกออร์เดอร์ ส่งมอบได้ทันทุกการขาย และได้ใจลูกค้า ดังนี้

 

#1. เสริมการรับออร์เดอร์ให้แกร่ง

“ใครสั่งรับหมด จดออร์เดอร์ลงเศษกระดาษ แถมยังรู้เรื่องแค่คนเดียว” คือสารตั้งต้นอย่างแรกที่ถูก Knock ด้วย “บอร์ดรับงานเข้า-ออก” ที่ทำให้มองเห็นยอดการผลิต ความสามารถในการผลิตที่มี รู้ว่าใครคือลูกค้า สั่งเท่าไร สั่งวันไหน และต้องส่งมอบวันไหน ทันหรือไม่ทันอย่างไร ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนฯ ผ่านสเตปแรกของการสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบหลังบ้านไปด้วยดี

 

#2. ออกแบบโต๊ะบรรจุขนมใหม่    

ถัดมา เรียกว่าเป็นไฮไลต์ก็ว่าได้กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในขั้นตอนของการ Packing หรือบรรจุสินค้า ที่เดิมทีทางวิสาหกิจชุมชนฯ จะใช้ตะแกรงพลาสติกวางบนกะละมังแล้ววางทับลงบนถังอีกที ซึ่งทำให้ต้องตักขนมทองม้วนที่ทำเสร็จแล้วมาร่อนเอาเศษออกก่อนแล้วค่อยใส่ลงถุง ส่งผลให้การบรรจุขนมแต่ละถุงใช้เวลา 1 นาทีต่อถุง แถมยังมีเศษขนมปะปนไปในถุงเป็นจำนวนมาก แต่พอเปลี่ยนมาใช้ “ตะแกรงสเตนเลส” ที่เจาะรูให้เศษขนมลอดลงมายังถาดที่ทำจากฟิวเจอร์บอร์ดด้านล่าง และขาตั้งที่ทำจากท่อ PVC ก็ไม่ต้องตักหรือร่อน เวลาในการบรรจุจึงเหลือเพียง 38 วินาทีต่อถุง หรือลดไปราว 50% และลดเศษขนมที่จะปนไปในถุงให้น้อยลง รวมถึงช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องก้มมากแบบที่เคย และช่วยให้ดูเป็นระเบียบและมีมาตรฐานมากขึ้นด้วย

 

#3. ลดเศษขนมหน้าเตาให้เป็น 0  

แน่นอนว่าเรื่องของการลดต้นทุนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดย เอกรัตน์พยายามจะลดการมีเศษขนมหน้าเตา ด้วยการให้พนักงานแต่ละคนทำการขูดเศษขนมหน้าเตาของตัวเองในช่วงเลิกงานแต่ละวัน แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก พร้อมจดว่าใครทำมากหรือน้อยลงในกระดาษ ซึ่งทางโตโยต้าได้เห็นถึงความตั้งใจตรงนี้ จึงเข้ามาต่อยอดด้วยการแนะนำให้ทำเป็น “Check Sheet : ตารางเช็กเศษขนมหน้าเตาแบบรายเดือน” ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เห็นว่า ในแต่ละวันใครมีเศษขนมหน้าเตาเท่าไรแล้ว ยังทำให้เห็นภาพรวมด้วยว่า ในเดือนนั้นๆ รวมแล้วแต่ละคนทำเศษขนมเป็นจำนวนเท่าไร ใครทำออกมามีปริมาณมากสุด-น้อยสุด

วิธีนี้ช่วยลดเศษขนมหน้าเตาได้จาก 16.6 กก.ต่อเดือน เหลือเพียง 5.1 กก.ต่อเดือน ลดความสูญเสียจาก 2,988 บาทต่อเดือน เป็น 918 บาทต่อเดือน ถือว่าช่วยประหยัดไปได้ 2,070 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 69.3% และใครที่ทำให้มีเศษขนมมากที่สุดจะได้รับการนำมา Training ต่อไป

 

#4. เช็กเตาให้พร้อมใช้ทุกสถานการณ์

สุดท้ายหนีไม่พ้นเรื่องของอุปกรณ์ ที่ทางประธานวิสาหกิจชุมชนฯ บอกว่า ไม่เคยทำประวัติการซ่อมเตาไว้เลย ทำให้เมื่อใช้ไปนานๆ จึงเสียและทำให้งานสะดุด ซึ่งทางโตโยต้าเองก็ไม่รอช้านำเทคนิค “Check Sheet : ตารางเช็กประวัติการซ่อมเตาทองม้วน” มาใช้ พร้อมการรันหมายเลขเตา 1-10 ให้เช็กได้ง่ายๆ ว่าเตาตัวไหนมีสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ในแต่ละวัน โดยจะทำการติ๊ก ü ถ้าเตาอยู่ในสภาพดี และ û หากต้องซ่อม รวมถึงมีเตาสำรองไว้ให้หมุนใช้งาน ซึ่งช่วยให้ทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตในช่วงเทศกาลก็ทำได้แบบไม่ต้องสะดุดจนส่งมอบล่าช้าหรือส่งลูกค้าไม่ทันแบบที่เคยเป็นมา  

 

#5. ทำชั้นเก็บสต็อก เพิ่มความสะดวก

ถ้าพูดถึงเรื่องของหลังบ้าน จะไม่พูดถึงเรื่องการจัดเก็บสินค้าและวัตถุดิบคงจะไม่ได้ ซึ่งการวางสินค้าทำเสร็จพร้อมส่งและวัตถุดิบที่ใช้ลงบนพื้น เคยสร้างความไม่น่ามอง กินพื้นที่เยอะ ไม่รู้จำนวนของ ใช้เวลาในการหา และต้องเดินข้ามไปมาแบบไม่สะดวกให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ มาแล้ว ทางโตโยต้าจึงเข้ามาทำการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการทำ “ชั้นวาง” จัดโซนแบ่งเป็นสัดส่วนว่าชั้นนี้วางอะไร จำนวนเท่าไร พร้อมมีป้ายเขียนบอกให้มองเห็นง่ายและหยิบสะดวกเข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ดูถูกสุขลักษณะมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาหา และรู้จำนวนสต็อกสินค้าได้แบบง่ายๆ

 

ทั้งหมดนี้คือการวางรากฐานให้ระบบหลังบ้านของวิสาหกิจชุมชนทองม้วนน้ำตาลโตนดมีความแข็งแรงในทุกกระบวนการแบบครบวงจร เป็นแรงหนุนสำคัญให้การทำมาค้าขายหน้าบ้านทำได้แบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเหมือนในอดีต และสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งด้วยการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากทางโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เป็นแรงผลักดันให้ “หลังบ้านแกร่ง หน้าบ้านเกิด ลูกค้า Love และกลับมาซื้อซ้ำ” ในที่สุด