เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ
ถามย้ำด้วย 5 Why สยบปัญหาการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง!
1 กรกฎาคม 2567
แคปชันขำๆ ของเหล่าคนทำงานที่โพสต์เหมือนจะเอาฮา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าดันเป็นเรื่องจริง ซึ่งหลายคนต้องหัวหมุน เพราะอยู่ๆ ก็จนแบบไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ผ่านต้นเดือนมาแค่ไม่กี่วัน ก็ต้องเจอกับการชักหน้าไม่ถึงหลังเล่นงานแบบงงๆ ขืนปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ การเงินคงติดหล่มและอาจสร้างหนี้ทับถมให้หนักกว่าเดิม
แต่โชคยังดีที่เรื่องป่วนแบบนี้ แก้ไขได้ด้วยการใช้องค์ความรู้สุดฮิตของโตโยต้าอย่าง “5 Why” หรือ การถามคำถาม “5 ทำไม?” มาเป็นเครื่องมือ เพื่อค้นหาและเข้าถึงสาเหตุหลักของปัญหาได้อย่างแท้จริง แล้วคุณจะรู้ว่า อะไรคือต้นตอของปัญหาที่ทำให้เงินเดือนไม่พอใช้ และอยู่ๆ ก็หายไปจากกระเป๋า!!
5 Why ไขก๊อก “เงินเดือนล่องหน”
แกะรอยตามหาเงินเดือนที่ชาวออฟฟิศหลายคนสงสัยว่าหายไปไหนได้ง่ายๆ ด้วยการถามว่า “ทำไม 5 ครั้ง” ซึ่งขั้นตอนก็ไม่มีอะไรมาก แค่ทำตาม 5 Step ต่อไปนี้เท่านั้น
Did You Know? ไม่จำเป็นต้อง 5 อาจถาม Why แค่ 3 ครั้ง หรือถึง 7 ครั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอต้นตอของปัญหาเมื่อไร
Are You Ready? เริ่มต้นใช้ “Why” ไปด้วยกัน
พร้อมแล้วมาขุดให้ถึงตัวการที่ทำให้เงินอันตรธานหายไปกันดีกว่า
Why #1 : ทำไมเงินเดือนถึงชักหน้าไม่ถึงหลัง “เพราะเก็บเงินไม่อยู่”
Why #2 : ทำไมถึงเก็บเงินไม่อยู่ “เพราะแยกไม่ออกว่าอะไร “จำเป็นต้องซื้อ” หรือ “แค่อยากได้””
Why #3 : ทำไมถึงแยกไม่ออกว่าอะไร “จำเป็นต้องซื้อ” หรือ “แค่อยากได้” “เพราะคิดว่ามีก็ใช้ก่อน ยังไม่ต้องรีบออมเงิน”
Why #4 : ทำไมถึงคิดว่ามีก็ใช้ก่อน ยังไม่ต้องรีบออมเงิน “เพราะไม่เคยวางแผนการเงิน”
Why #5 : ทำไมถึงไม่เคยวางแผนการเงิน “เพราะแค่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายก็ยังไม่เคยเลย”
เท่านี้ เราก็เจอต้นตอที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาแล้วว่า ทำไมเดือนๆ หนึ่งถึงมีเงินไม่พอใช้ได้ว่าเป็นเพราะไม่เคยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายนั่นเอง ซึ่งเมื่อรู้แบบนี้แล้ว อย่ารอช้า มาดู 3 วิธีขุดรากแห่งปัญหาที่ว่านี้กันได้เลย
อย่าคิดว่ารู้แล้วว่าต้องจ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน เพราะอาจเจอค่าใช้จ่ายแฝงแบบคิดไม่ถึง ดังนั้น ทางที่ดีควรทำการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกรายการที่เกิดขึ้น ให้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีรายรับเข้ามาเท่าไร และใช้ออกไปเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการใช้จ่ายได้ดีขึ้น และเห็นภาพรวมได้ว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ดูไม่จำเป็นและสามารถตัดหรือลดลงได้ โดยจะจดใส่สมุดหรือใช้แอปพลิเคชันบนมือถือก็ได้แล้วแต่สะดวก
WHY? การบันทึกรายรับ-รายจ่าย = เห็นภาพการใช้จ่ายที่แท้จริง ใช้ไปกับอะไร รายการไหนไม่จำเป็น/ทำให้เงินไม่พอใช้
อย่าปล่อยให้คำว่าของมันต้องมี ของมันกำลังลดราคา หรือของมันจะหมดถ้าไม่รีบซื้อเข้าครอบงำ ควรตั้งสติให้ดีทุกครั้งก่อนใช้จ่ายอะไร ที่สำคัญต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ของนั้นจำเป็นต้องซื้อจริงๆ หรือไม่ หรือถ้าซื้อแล้วจะกระทบต่อสุขภาพทางการเงินหรือเปล่าให้ดีด้วย
WHY? แยกให้ออก “จำเป็น” vs. “อยากได้” = ฝึกนิสัยลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
สุดท้าย อย่าละเลยการควบคุมการใช้จ่าย ด้วยการแบ่งสัดส่วนเงินเดือนออกเป็น 3 ก้อน โดยเงินเดือนทั้งหมดเท่ากับ 100% ซึ่ง 50% ควรจะกันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ฯลฯ ส่วนอีก 30% ไว้ใช้จ่ายส่วนตัวหรือซื้อความสุขให้ตัวเอง และก้อนสุดท้าย 20% เก็บไว้เป็นเงินออม
WHY? การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน = ทำให้รู้ว่าควรใช้เงินอย่างไร
รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมลองนำ 5 Why ไปถามซ้ำๆ เพื่อหาจุดกำเนิดของปัญหาที่สั่นคลอนการเงินที่เกิดขึ้นกับตัวของคุณเอง จะได้ไม่ต้องเป็นหนึ่งในคนที่ตั้งแคปชัน “สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ” หรือ “อาการเบื้องต้นไม่มีไข้ อาการทั่วไปไม่มีจะกินแล้ว” ที่ดูแล้วเจ็บมากกว่าฮาอีกต่อไป...