เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ
Yokoten Case Study
4 มิถุนายน 2567
ถ้าพูดถึงคำว่า “มาตรฐาน” สำหรับคุณคืออะไร?
สำหรับวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังได้รับความรู้จากโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า “มาตรฐาน ก็คือ การทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้เหมือนเดิม” ดังนั้น ถ้าการทำงานเป็นมาตรฐานแล้ว ความผิดพลาดจึงแทบไม่มี ที่สำคัญต่อให้เป็นธุรกิจเล็กแค่ไหน ก็สามารถสร้างมาตรฐานได้ทั้งสิ้น
สัญญา หิรัญวดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดฯ เล่าว่า ด้วยความเป็นธุรกิจชุมชนเล็กๆ ทำกันเองโดยชาวบ้าน ทุกอย่างที่ทำจึงเกิดจากความถนัดและความเคยชิน ไม่ได้มีตัวเลขกำหนดที่ชัดเจน แต่องค์ความรู้ของโตโยต้าสอนให้ชาวบ้านรู้จักการสร้างมาตรฐานการทำงานแบบง่ายๆ แต่ให้ผลลัพธ์เกินคาด
สัญญาได้หยิบเอา 3 ตัวอย่างของการแก้ปัญหาในกระบวนการทำงาน เพื่อสะท้อนความมีมาตรฐานของวิสาหกิจชุมชนมาให้ได้รู้กัน
ขี้เลื่อย ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการทำก้อนเพาะเห็ด ซึ่งในขั้นตอนการผสมพบปัญหาว่า ถุงกระสอบขี้เลื่อย แต่ละถุงปริมาณไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สัดส่วนการผสมผิดเพี้ยน ผู้เชี่ยวชาญของโตโยต้าได้แนะนำการทำ “Stand วัดความสูง” เพื่อช่วยในการเติมขี้เลื่อยลงถุง โดยจะกำหนดมาตรฐานขี้เลื่อยต่อถุง (อยู่ที่ 14.3 กิโลกรัม) แต่แทนที่จะชั่งน้ำหนัก เปลี่ยนเป็นแค่ใส่ขี้เลื่อยในถุงให้ได้ระดับความสูงที่กำหนด แค่นี้ขี้เลื่อยแต่ละถุงก็ได้มาตรฐานน้ำหนักเท่ากัน ไม่ต้องเสียเวลาในการชั่งน้ำหนัก
สำหรับขั้นตอนการใส่น้ำผสมขี้เลื่อย เดิมจะใช้สายยางฉีดน้ำลงไป โดยอาศัยกะปริมาณเอา แต่โตโยต้ามาสอนให้ทำอุปกรณ์รดน้ำ โดยที่กำหนดมาตรฐานปริมาณน้ำที่จะใช้งานแต่ละครั้ง เพียงแค่เปิดก๊อก น้ำก็จะไหลออกมาตามที่กำหนดไว้ ช่วยทำให้ก้อนขี้เลื่อยได้คุณภาพเพิ่มขึ้นจากส่วนผสมที่ตีเข้ากันดีนั่นเอง
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำก้อนเพาะเห็ดอยู่ที่การนึ่งฆ่าเชื้อ หากทำไม่ดี โอกาสที่จะเกิดของเสียในขั้นตอนนี้มีสูงมาก ที่ผ่านมาพบว่า มีของเสียมากถึง 25% เพราะไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำและอุณหภูมิเตานึ่งให้คงที่ได้ เมื่อโตโยต้าเข้ามาช่วยปรับปรุงเตานึ่ง โดยมีการกำหนดปริมาณน้ำเข้าที่เหมาะสม ใช้การออกแบบเส้นขีดเพื่อช่วยในการเติมน้ำ พร้อมติดตั้งลูกลอยเพื่อให้รู้ระดับน้ำ แทนการดูอุณหภูมิจากเกจวัดหน้าเตาเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ควบคุมอุณหภูมิเตานึ่งได้คงที่มากขึ้น และสามารถลดของเสียเหลือแค่ 2% เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า การที่โตโยต้ามาช่วยปรับปรุง ออกแบบเครื่องมือง่ายๆ ก็ทำให้การทำงานมีมาตรฐานขึ้นมาได้ จากนี้ไปให้คิดเสมอว่า ทุกธุรกิจสร้างมาตรฐานของตัวเองได้ ยิ่งธุรกิจเล็ก ยิ่งต้องมีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้มากขึ้น