เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

#ทำตัวเป็นน้ำ

29 เมษายน 2567

“การปรับตัว” เป็นวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด ใครปรับตัวได้เร็วกว่า ก็มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ก่อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง จากผลกระทบของโควิด-19 และกฎข้อบังคับต่างๆ จึงต้องผันตัวจากผู้ผลิตสินค้าสมุนไพรและความงาม กลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำดื่มกลิ่นใบเตย

 

เหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลง

จากคำบอกเล่าของ ธนกฤต สอนเพียร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ บอกไว้ว่า หลังจากตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ช่วงแรกของการปรับเปลี่ยน สมาชิกในกลุ่มเริ่มขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากการจัดการที่ไม่มีระบบ ทำให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ไม่เป็นขั้นตอน เสียทั้งแรงและเวลา การตกหล่นของกระบวนการสั่งซื้อและส่งมอบ ทำให้ธุรกิจต้องเจอกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของสมาชิกลดลงไปเรื่อยๆ จนเกิดการถอดใจกับธุรกิจใหม่ที่ดูจะไม่มั่นคง ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมา

“ธุรกิจจะสำเร็จเหมือนเดิมไหม?”

“ต้องขาดทุนอีกเท่าไร?”

“น้ำดื่มจะขายได้กำไรหรือไม่?”

“มีวิธีจัดการการทำงานที่ไม่เป็นระบบอย่างไร?”

วิกฤตความเชื่อมั่นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทำให้ธนกฤตต้องคิดหาทางออก เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากสมาชิกประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่ได้เจอกับโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทำให้มองเห็นหนทางแก้ปัญหา โดยยึดแนวคิดที่ว่า “ทำตัวให้เป็นเหมือนเช่นน้ำ” ที่พร้อมปรับตัวเข้ากับทุกภาชนะ

 

#ทำตัวเป็นน้ำ พร้อมรับการปรับตัว

เมื่อ “น้ำ” สามารถเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะได้ การยึดแนวคิดนี้ของวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ จึงทำให้พวกเขาพร้อมที่จะปรับตัวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากโตโยต้า โดยยึดหลัก Toyota Production System หรือ TPS และการทำ Kaizen มาทำให้การจัดการระบบต่างๆ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

  • ปรับการผลิต ตามระบบ TPS เพื่อให้การทำงาน Flow ตามกระบวนการ เพิ่มรางลำเลียงให้ไปในทิศทางเดียวกัน วางกระบวนการผลิตให้ไหลได้ต่อเนื่อง ไม่ย้อนศร ลดความสูญเปล่า (Muda) ในการทำงานลง 20%
  • ปรับลดต้นทุน หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลัง คือ การลดต้นทุนที่เกิดจากความสูญเสียออกให้มากที่สุด เพื่อใช้เงินในส่วนนี้มาพัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยปรับวิธีการบรรจุน้ำดื่มใส่ขวด ด้วยการใช้รางบังคับแบบแถวเดียวพร้อมติดตั้งระบบป้องกันน้ำล้น ลดการสูญเสียลง 35%
  • ปรับคุณภาพ หากสินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพได้มาตรฐาน สิ่งที่จะได้รับคือ ความไว้วางใจจากลูกค้า จึงได้มีการปรับปรุงระบบผลิตน้ำ RO ให้เป็น Visual มีป้ายลูกศรกำกับทิศทางการไหลของน้ำบริเวณท่อน้ำทุกตัว พร้อมป้ายกำกับที่วาล์วน้ำ แสดงให้เห็นว่าปิดหรือเปิด และกำจัดท่อน้ำที่ไม่ได้ใช้งานออกจากไลน์การผลิต เพื่อลดปัญหาการผิดพลาดในกระบวนการขั้นต่อไป และช่วยควบคุมคุณภาพ ความถูกต้องของสินค้า
  • ปรับสต็อก เพื่อให้ง่ายต่อการนำวัตถุดิบออกมาใช้งาน และการสั่งวัตถุดิบเพิ่มเติม ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็น Visual Control 100% แยกสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณ กำหนดขอบเขตการจัดเก็บสต็อกของวัตถุดิบแต่ละชนิด พร้อมควบคุมจำนวนสต็อกให้เพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มากหรือน้อยเกินไป
  • ปรับการส่งมอบ ทุกการสั่งซื้อของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การส่งสินค้าผิดวัน เวลา หรือส่งไม่ครบตามจำนวน ส่งผลเสียต่อธุรกิจทั้งสิ้น การส่งมอบจึงเป็นอีกจุดที่ไม่ควรละเลย จึงได้ปรับเปลี่ยนการจดออร์เดอร์ โดยใช้ Visual Board ที่มีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งชื่อผู้สั่ง จำนวน วันที่สั่งและวันที่ส่งมอบ เพื่อง่ายต่อการลงข้อมูลในระบบและเพิ่มความแม่นยำในการส่งสินค้า

 

สุดยอดผลลัพธ์ เรียกกลับความเชื่อมั่น

จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังการปรับตัวโดยอาศัยความรู้ของโตโยต้า สามารถที่จะเรียกความเชื่อมั่นของสมาชิกกลับมาได้ เพราะการทำงานมีระบบมากขึ้น ทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และเกิดความร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งธนกฤตย้ำว่า “ความเชื่อมั่น” ของสมาชิกทุกคน เปรียบเหมือนเชื้อเพลิงที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น และเมื่อสร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กรได้แล้ว ก้าวต่อไป คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยจะยึดการสร้างมาตรฐาน การเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีจากแหล่งที่ปลอดภัย และสุดท้ายคือความจริงใจ และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

จากทั้งหมดนี้ ธนกฤตกล่าวสรุปว่า ส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ คือ ความเชื่อมั่นและการพร้อมที่จะปรับตัวของคนในองค์กรให้เหมือนกับน้ำที่ไม่ว่าจะอยู่ในภาชนะใดก็ตาม และทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดระบบการจัดการที่ดี เช่นที่โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์นำมาถ่ายทอดให้กับธุรกิจชุมชนนั่นเอง