เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

“รู้-เห็น-เป็น-ใจ”

27 มีนาคม 2567

“ไม่รู้ปัญหา” ร้ายแรงยิ่งกว่า “ธุรกิจมีปัญหา” คำพูดนี้ไม่เกินจริง เพราะการไม่รู้ว่าธุรกิจมีปัญหา ก็จะไม่เคยคิดที่จะหาหนทางแก้ไข บางครั้งการที่ไม่รู้ไปเรื่อยๆ คือ ภัยเงียบที่คอยกัดกินธุรกิจ จนวันหนึ่งที่ธุรกิจไปไม่ไหวถึงได้รู้ตัวว่า ธุรกิจมีปัญหาแต่ก็เยียวยาไม่ทันแล้ว

สถานการณ์เช่นนี้ ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับ วิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต จากคำบอกเล่าของ “สัญญา หิรัญวดี” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ที่บอกไว้ว่า การเข้ามาของโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทำให้รู้และมองเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจนขึ้น พร้อมกับทางออกในการช่วยแก้ปัญหา ภายใต้แนวทางที่เรียกว่า “รู้-เห็น-เป็น-ใจ”  

รู้ : รู้ปัญหาในทุกกระบวนการ 

สัญญาเล่าให้ฟังว่า วันที่ผู้เชี่ยวชาญจากโตโยต้าเข้ามา แล้วถามเราด้วยคำถามที่ว่า ทำไม...? หลายคำถามมาก ซึ่งในตอนแรกก็สงสัยว่า เขาถามเพื่ออะไร? จนท้ายที่สุดได้รู้ว่า การถามทำไมของเขานั้นก็เพื่อจะหา “รากของปัญหา” ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงว่าคืออะไร? เช่น

ถามว่า ทำไมผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง? เพราะต้องรอวัตถุดิบนาน ไม่รู้กำหนดส่งที่แน่นอน

ถามว่า ทำไมเกิดของเสียจำนวนมาก? เพราะวัตถุดิบไม่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง

ถามว่า ทำไมคุณภาพชิ้นงานไม่สม่ำเสมอ? เพราะทุกงานที่ทำมักใช้การคาดเดา กะปริมาณเอาเอง

เห็น : เห็นแนวทางแก้ไข

เมื่อเริ่มรู้ปัญหาแล้ว คำแนะนำต่อมาคือ การชี้ให้เห็นแนวทางของการแก้ปัญหา โดยยึดตามหลัก TPS (Toyota Production System) และการทำ Kaizen โดยที่มีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจ 5 ด้านด้วยกัน เริ่มตั้งแต่

การเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ “รางเลื่อน” หรือระบบ Karakuri ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางความคิดของโตโยต้า ออกแบบมาเพื่อช่วยในการขนย้ายวัตถุดิบหรือสินค้า แทนการใช้แรงงานคน ทำให้ประหยัดเวลา และทุ่นแรงได้อย่างมาก

การควบคุมคุณภาพ หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เป็นต้นเหตุทำให้สินค้าไม่ได้คุณภาพที่สม่ำเสมอ และเกิดของเสียในกระบวนการผลิตจำนวนมาก เป็นเพราะที่ผ่านมามักใช้การคาดเดา กะปริมาณตามความเคยชิน เช่น การผสมก้อนขี้เลื่อย เดิมคือใช้สายยางฉีดน้ำลงไปโดยกะปริมาณเอา แต่โตโยต้าได้เข้ามาช่วยสอนทำอุปกรณ์รดน้ำ ระบบน้ำจะไหลออกมาตามปริมาณที่กำหนดไว้ หรือการนึ่งก้อนเพาะเห็ด เดิมจะดูจากเกจวัดหน้าเตาเท่านั้น แต่โตโยต้ามาช่วยปรับอุปกรณ์เครื่องนึ่ง ออกแบบเส้นขีดสำหรับเติมน้ำให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งจากการแก้ปัญหาเหล่านี้ สัญญาบอกว่าทำให้ก้อนเพาะเห็ดมีคุณภาพและมาตรฐานเท่ากัน และยังช่วยลดของเสียจาก 25% เหลือแค่ 2% เท่านั้น

ลดการส่งมอบที่ล่าช้า จากที่ไม่เคยมีการวางแผนจัดการสต็อกวัตถุดิบเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวัตถุดิบจะมาส่งเมื่อไร แต่เมื่อได้รับคำแนะนำในการใช้บอร์ดควบคุมการผลิต และ Lead Time ควบคุมวัตถุดิบ ทำให้สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบได้ตามกำหนด รวมถึงระยะเวลาในการรอคอยวัตถุดิบก็ลดลงและมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ลดต้นทุน หนึ่งในแนวทางการลดต้นทุน คือ เน้นใช้การซ่อมแซม แทนการซื้อใหม่ เมื่อเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มีการชำรุด หากต้องซื้อเครื่องใหม่อาจต้องเสียเงินหลายหมื่นบาท แต่ถ้าซ่อมแซมได้เองก็ลดต้นทุนลงได้ ซึ่งโตโยต้าได้เข้ามาช่วยสอนชาวบ้านถึงวิธีการซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

บริหารจัดการสต็อก โดยเฉพาะพื้นที่เก็บสต็อกขี้เลื่อย จากที่ไม่ได้ใส่ใจมากนัก ทำให้มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน ส่งผลให้มีขี้เลื่อยเสียจำนวนมาก การแก้ปัญหานี้ เพียงแค่ปรับปรุงพื้นที่เก็บสต็อกให้มีความมิดชิด ไม่ให้มีสิ่งสกปรกมาปนเปื้อน ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดของเสียได้แล้ว

 

เป็น : แก้ไขปัญหาเป็นได้ด้วยตนเอง

หัวใจสำคัญของการปรับปรุงพัฒนาที่ดี คือ โตโยต้าจะทำหน้าที่เป็นเพียง “พี่เลี้ยง” คอยแนะนำให้ แต่สุดท้ายแล้วธุรกิจชุมชนต้องทำได้ด้วยตัวเอง เช่น สอนการทำรางเลื่อน (Karakuri) ที่เป็นตัวช่วยขนย้ายวัตถุดิบ/สินค้า แทนการใช้คนเข็น โดยชุมชนเป็นคนลงมือทำเองทั้งหมด เพราะถ้าเสียหรืออยากทำเพิ่ม ก็จะได้ทำเองได้ ที่สำคัญคือ ลงทุนไม่สูง เพราะเน้นประยุกต์ใช้จากสิ่งของที่มีอยู่ในชุมชน เช่น เศษเหล็ก/ไม้ หรือการสอนวิธีเชื่อมเหล็กที่ถูกต้องและปลอดภัย เพื่อให้สามารถซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ชำรุดได้เช่นกัน

 

ใจ : เข้าใจ ใส่ใจ ถูกใจ

สุดท้ายคือเรื่องของ “ใจ” เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากทุกคนในชุมชนขาดการ “เปิดใจ” อาจจะเป็นเพราะกลัวเรื่องค่าใช้จ่ายสูง หากจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนา แต่ด้วยหลักของ Kaizen คือ การปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องลงทุนสูง แต่เน้นประยุกต์ใช้ของใกล้ตัว เมื่อเปิดใจแล้ว สิ่งต่อมาคือ “เข้าใจ” ต้องทำความเข้าใจกับนวัตกรรมความคิดของโตโยต้าว่ามีอะไรบ้าง สามารถปรับใช้กับธุรกิจชุมชนได้อย่างไร จากนั้นก็ต้อง “ใส่ใจ” ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ เพื่อที่จะเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ที่มีระบบมาตรฐาน และสุดท้ายผลลัพธ์ของการมีมาตรฐาน คุณภาพสม่ำเสมอ ก็จะนำไปสู่การ “ถูกใจ” ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และผลกำไรก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

เรื่องราวทั้งหมดนี้ของวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจเล็กๆ อีกมากมาย ที่อยากจะลุกขึ้นมาสู้กับปัญหา และปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน? ลองใช้หลัก “รู้-เห็น-เป็น-ใจ” ช่วยสำรวจธุรกิจของคุณดู!