เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ

4 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่อเส้นทางความสำเร็จในธุรกิจสายความงามได้จบลง จากพิษของโรคระบาดโควิด-19 และกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น เป็นเหตุผลที่ทำให้ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ” จังหวัดพิษณุโลก ต้องเผชิญหน้าและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ในฐานะประธานกลุ่มของ “ธนกฤต สอนเพียร” จึงต้องเร่งหาทางออกให้กับชุมชนด้วยการหันมาจับธุรกิจผลิต “น้ำดื่มกลิ่นใบเตย” ภายใต้แบรนด์ “คำยวน” ผลิตจากใบเตยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มาจากในชุมชน

ด้วยความเป็นน้องใหม่ในธุรกิจเครื่องดื่ม ทำให้เกิดข้อผิดพลาดและความเสียหาย ทั้งด้านต้นทุน แรงงานและเวลา ส่งผลให้คนในชุมชนเริ่มขาดความเชื่อมั่นและเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจในครั้งนี้ ธนกฤตจึงพยายามหาวิธีจัดการแก้ปัญหาในทุกส่วนงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนการส่งมอบ แต่ยังคงเกิดของเสียและความผิดพลาดระหว่างการทำงาน ทำให้เสียทั้งแรงและเวลา

“จนได้มารู้จักกับโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ซึ่งทางโตโยต้าได้ลงพื้นที่จริง เข้ามาช่วยอธิบายจุดที่เป็นปัญหาหรือข้อผิดพลาด พร้อมกับแนะนำแนวทางแก้ไขที่สามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด อีกทั้งยังช่วยสร้างแนวคิดใหม่ๆ ขยายกรอบความรู้ทางธุรกิจให้กว้างขึ้น”

จากองค์ความรู้ทั้งในเรื่องของระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System : TPS) และการทำ Kaizen ที่ทางโตโยต้าได้นำมาถ่ายทอดแบบเข้าใจง่าย สามารถนำไปปรับใช้กับวิสาหกิจชุมชนได้ จนนำมาสู่กลยุทธ์ “ลดเพื่อเพิ่ม” ในแบบของวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ ที่เข้ามาช่วยจัดการกับทุกปัญหา และยังเป็นไอเดียช่วยนำไปพัฒนาต่อยอดอีกด้วย ส่งผลให้สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นจากคนในชุมชน ทำให้เส้นทางใหม่กลายเป็นเส้นทางหลัก

รู้จักกลยุทธ์ “ลดเพื่อเพิ่ม” เปลี่ยนเส้นทางใหม่ให้มั่นคง

#ลดความซับซ้อน-เพิ่มความถูกต้อง
หนึ่งปัญหาที่สร้างความเสียหายไม่น้อยในธุรกิจ คือ ความซับซ้อนของการทำงาน ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ทางโตโยต้าจึงได้เข้ามาจัดการกับปัญหาด้วยการสร้างแผนการทำงานที่เข้าใจง่ายขึ้น จากเดิมที่มักเกิดข้อผิดพลาดในการเปิด-ปิดวาล์วน้ำ จัดการแก้ไข โดยติดป้ายลูกศรบอกทิศทางการไหลของน้ำ พร้อมติดป้ายกำกับวาล์วน้ำทุกตัวว่า เปิดหรือปิด ทำให้ลดความผิดพลาดได้ 100% รวมถึงความซับซ้อนของการจดบันทึกคำสั่งซื้อ ที่จากเดิมใช้การจดข้อมูลคร่าวๆ ลงบอร์ดเปล่า ปรับเป็นการทำตารางบันทึกที่มีรายละเอียดชัดเจน สามารถบันทึกการสั่งซื้อน้ำได้ถึง 2 เดือน ช่วยให้การจัดส่งเป็นไปอย่างถูกต้องทั้งสถานที่ ผู้ซื้อ จำนวน ประเภท และวันเวลาที่ต้องจัดส่ง

#ลดเวลา-เพิ่มผลผลิต
เวลาเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ การใช้เวลามากแต่ได้ผลผลิตน้อย ถือเป็นสิ่งที่ต้องรีบแก้ไข โดยวิธีการ Kaizen แบบโตโยต้า ได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้ถังตวงขนาด 40 ลิตร และไม่มีสเกลบอกที่ชัดเจน ใช้การผสมถึง 3 รอบ/ครั้ง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง มาเป็นการเพิ่มขนาดถังตวงเป็น 69 ลิตร พร้อมทำสเกลบอกระดับ ทำให้ลดการผสมเหลือเพียง 2 รอบ/ครั้ง ใช้เวลาเพียง 40 นาที 

#ลดความสูญเสีย-เพิ่มทุนต่อยอดธุรกิจ
เพราะความใหม่ในเส้นทางของธุรกิจนี้ ทำให้มีของเสียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนที่ต้องเสียไป แทนที่จะได้นำมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ โตโยต้าได้เข้ามาให้คำแนะนำ ในขั้นตอนการบรรจุน้ำลงขวดจากเดิมเป็นแบบ Manual ทำให้เกิดปัญหาน้ำล้นประมาณ 2 วินาที = 40 cc./ขวด ปรับปรุงโดยการติดตั้งระบบ Limited SW ป้องกันน้ำล้น ทำให้สูญเสียน้ำเหลือเพียง < 5 cc./ขวด ลดการสูญเสียได้ 199.5 ลิตร/วัน คิดเป็นเงิน 31,258 บาท/เดือน รวมถึงการเปลี่ยนจากการใช้แก๊สมาเป็นฟืนในกระบวนการต้มน้ำใบเตย ซึ่งเป็นไอเดียต่อยอดจากทางวิสาหกิจ หลังจากได้เรียนรู้เรื่อง Kaizen จากโตโยต้า ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 309,600 บาท/ปี ที่สำคัญในอนาคตมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนจากการใช้ไฟฟ้า มาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผง Solar Cell อีกด้วย

#ลดพื้นที่-เพิ่มความสะดวก
อีกปัญหาที่ดูเล็กน้อย แต่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ นั่นคือ การจัดการกับสต็อกน้ำดื่ม และ Packaging ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ที่วางปะปนกัน ทำให้ยากต่อการเช็กสต็อก เสียเวลาในการค้นหา และเสียพื้นที่ใช้งาน จึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็น Visual Control โดยกำหนดโซนวางของ ทำป้ายบ่งชี้ประเภท ตีกรอบเส้นแบ่งโซนและควบคุมจำนวนสต็อก ทำให้ลดพื้นที่การจัดเก็บที่ไม่จำเป็นและสะดวกต่อการค้นหาและตรวจเช็ก

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือ ความพร้อมทั้งแรงกาย แรงใจ และองค์ความรู้ เช่นเดียวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรตำบลบึงพระ ที่พร้อมสู้กับสิ่งใหม่ด้วยความมุ่งมั่น บวกกับองค์ความรู้ของโตโยต้าที่ประยุกต์มาให้เหมาะกับชุมชน จนทำให้สามารถเดินหน้าพาธุรกิจสู่เป้าหมายความสำเร็จได้อีกครั้ง