เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

บริบูรณ์ คราฟท์ บอกต่อเทคนิค “แบ่งช่องเก็บตามขนาด” แก้ปัญหาสต็อกวัตถุดิบ

18 พฤษภาคม 2566

ขนาดที่หลากหลายและไม่เท่ากันของวัตถุดิบ ยิ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย การจัดเก็บยิ่งยุ่งยากเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และยังเป็นต้นเหตุทำให้มองไม่เห็นสต็อกที่มี แถมเงินยังจมหายไปต่อหน้าโดยที่ไม่รู้ตัว เหตุการณ์สุดสะพรึงที่ คมกฤช บริบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของที่ระลึกจากไม้ไผ่ ภายใต้แบรนด์ บริบูรณ์ คราฟท์ เคยถูกท้าทายมาแล้ว   

ขนาดไม่เท่ากัน = ต้นเหตุเรื่องยุ่งๆ  
เพราะเป็นงานแฮนด์เมด การสต็อกวัตถุดิบโดยเฉพาะเส้นตอกไม้ไผ่ จึงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทางศูนย์พบเจอ เนื่องจากทำการตรวจสอบและแยกขนาดได้ยาก ทำให้จัดเก็บได้ยุ่งยากจนวางไม่เป็นที่

“แม้เราจะบอกว่าใช้เส้นตอกที่ทำจากไม้ไผ่เหมือนกัน แต่ด้วยความที่โดยธรรมชาติแล้วไม้ไผ่ปล้องหนึ่งหรือแต่ละปล้องนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน พอทำเป็นเส้นตอกออกมาจึงมีขนาดไม่เท่ากัน อาจจะเป็น 2 มิลลิเมตรบ้าง หรือ 4 มิลลิเมตรบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลามากในการแบ่งเพื่อไปจัดเก็บให้ถูกต้องในขนาดเดียวกัน”

สุดยอดปัญหา…กว่าจะรู้ว่ามีกี่เส้น การผลิตก็ล่าช้า
เมื่อเส้นตอกที่ใช้มีหลายขนาด และเก็บแบบกองสะสม ทำให้กว่าจะรู้ว่ามีปริมาณพอให้ใช้หรือไม่ก็ส่งผลให้การผลิตต้องล่าช้า

“เรามีเส้นตอกเยอะมาก และวางไว้เป็นกองสะสมกัน ซึ่งถ้ามีลูกค้ามาออร์เดอร์ว่าอยากได้กระเป๋าจำนวนเท่านี้ จะต้องใช้เวลานับเส้นตอกเป็นวัน ถึงจะตอบได้ว่าจะสามารถผลิตและส่งของให้ได้เมื่อไร”

กวาดเรียบทุกเส้น ด้วยการทำ “ช่องแบ่งขนาดเส้นตอก”
ดังนั้น เพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งนับ นั่งแยก และป้องกันความพลั้งเผลอวางเส้นตอกที่ไม่ใช่ขนาดเดียวกันอยู่ด้วยกันอีกต่อไป วิธีการง่ายๆ อย่างการแบ่งช่องขนาดเส้นตอก พร้อมเขียนตัวเลขกำกับจึงถูกนำมาใช้ ควบคู่ไปกับการมีสต็อกการ์ดไว้คอยบันทึกวัตถุดิบเข้าและออก

“ก่อนหน้านี้ขนาดนั่งอยู่ด้วยกันยังต้องมีการถามกันว่าเส้นตอกขนาดนี้อยู่ที่ไหน อะไรอยู่ตรงไหน ใครเป็นคนเก็บกันวุ่นวาย แต่พอมีการจัดระเบียบ โดยทำช่องแบ่งเพื่อเก็บสต็อกตามขนาดขึ้นมา เช่น 2 มม. 3 มม. 4 มม. และ 5 มม. ทุกคนก็สามารถมองทีเดียวเห็น และช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้นมาก”

แบ่งช่องจนรู้ อะไรเหลือ อะไรขาด!
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! แค่แบ่งช่องเก็บแค่นี้ก็ทำให้ธุรกิจรู้ถึงจำนวนสต็อกวัตถุดิบที่มีได้ ปูทางสู่การผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

“เมื่อเรารู้จำนวนวัตถุดิบ เราก็สามารถควบคุมการทำงานได้ อย่างบางทีเส้นตอกขนาดนี้ มีเหลืออยู่เท่านี้ เราก็สามารถนำมาคิดได้ว่าจะทำอะไรกับส่วนนี้ได้บ้าง จะนำมาจัดการและผลิตอย่างไรให้ไม่ต้องเหลือทิ้ง หรือถ้าขนาดนี้ยังมีเยอะอยู่เราก็จะไม่เติม หรือขนาดไหนต้องใช้จำนวนเท่าไรและควรมีเท่าไรเราก็สามารถรู้ได้”

ผลที่ได้จากการจัดเก็บสต็อกวัตถุดิบให้เป็นระเบียบ ทำให้ทาง บริบูรณ์ คราฟท์ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดมาตรฐานสต็อกให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ และนำเส้นตอกที่เหลือมาประยุกต์ออกแบบกระเป๋าใหม่ๆ สร้างโอกาสในการขายให้เพิ่มขึ้น รวมถึงลดและป้องกันการเกิดของเสียจากการเก็บที่ไม่ดีและการเก็บไว้นาน ไปจนถึงลดต้นทุนจมได้อีกด้วย  

ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ภายใต้แบรนด์ บริบูรณ์ คราฟท์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งสามารถส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ