เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ บอกต่อ “ไซส์เดียว” สยบปัญหาสินค้าต่างขนาด!

15 พฤษภาคม 2566

ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ บอกต่อ “ไซส์เดียว” สยบปัญหาสินค้าต่างขนาด!
แค่แม่พิมพ์หนาไม่เท่ากันก็ทำธุรกิจอลหม่านได้ เรื่องราวก่อความสูญเสีย จนธุรกิจเกือบเสียศูนย์ของ สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ผู้ผลิตข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จังหวัดขอนแก่น ที่โดนความสูงต่ำ ความหนาบางไม่สม่ำเสมอกันของอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเล่นงาน  

ชี้เป้า...เพราะความ “ไม่เท่ากัน” พาธุรกิจจน
การที่แม่พิมพ์ที่ใช้ขึ้นรูปข้าวแตนมีความหนาหรือสูงต่ำไม่เท่ากันนั้นคือ ที่มาของการได้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการใช้วัตถุดิบและต้นทุนในการผลิต

“เรื่องพื้นฐานง่ายๆ ที่เราไม่เคยดูเลยคือ เรื่องของแม่พิมพ์ทำข้าวแตน ที่บางอันก็หนาหรือสูงบ้าง บางอันก็บางหรือต่ำบ้าง โดยมีขนาดตั้งแต่ 4-8 มิลลิเมตร พอนำแบบ 4 มม. ไปทอด ข้าวก็แตกง่ายเพราะบางไป พอนำแบบ 8 มม. ไปทอด ข้าวก็แข็ง ไม่ฟู ไม่สุก เพราะหนาไป คุณภาพที่ได้ไม่ดี รูปทรงไม่สวย จนลูกค้าไม่อยากซื้อ”

รู้หรือไม่? : แค่แม่พิมพ์หนาไม่เท่ากัน ทำให้ไม่เคยรู้เลยว่า ข้าว 1 กิโลกรัมที่ใช้นั้นสามารถผลิตข้าวแตนได้กี่แผ่นกันแน่

กำจัดทิ้งความไม่สม่ำเสมอ ด้วยการมีแค่ “ไซส์เดียว”
ดังนั้น เพื่อไม่ปล่อยให้ปัญหานี้คาราคาซัง การหาความหนาของแม่พิมพ์ที่เหมาะสมและดีต่อคุณภาพของสินค้า จึงถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ขจัดเรื่องยุ่งที่ว่าอย่างทันท่วงที

“เราทำการหาขนาดหรือความหนาของแม่พิมพ์ที่เหมาะสม จนสรุปได้ว่า 7 มม. คือไซส์ที่ใช่ เพราะเมื่อนำข้าวแตนไปตากแล้วนำไปทอด ข้าวไม่แตก ไม่แข็ง และฟู ดังนั้น พอใช้แม่พิมพ์ไซส์เดียวแบบนี้ ทำให้เราสามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้สินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน”  

รู้หรือไม่? : การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ที่ใช้ ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตและผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น

การทำให้แม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตข้าวแตนมีเพียงขนาดเดียว ช่วยให้ธุรกิจของข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ไม่ต้องเผชิญกับเรื่องของเสียที่เกิดจากการผลิต เรียกได้ว่าลดเหลือเพียง 0% จากเดิมที่เคยเจอถึง 11% นับเป็นตัวอย่างชั้นดีให้ธุรกิจไหนที่ยังมองข้ามเรื่องของอุปกรณ์ใกล้ตัวไปต้องหันมาทบทวนกันแบบด่วนๆ       

ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งสามารถส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ