เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค แก้ปัญหาพนักงานลาบ่อย ด้วย “รางสไลด์” สุดประหยัด!

20 เมษายน 2566

เชื่อไหมว่า แค่เดินบ่อยแถมยกของหนักคือ สาเหตุสำคัญของการที่พนักงานลาหยุดงาน เรื่องจริงที่ อภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเห็ดและอุปกรณ์เพาะเห็ดทุกชนิดแห่งจังหวัดสระบุรี ต้องปวดหัว เพราะไม่ใช่แค่จะขาดแคลนแรงงาน แต่ยังกระทบต่อยอดการผลิตที่ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

เผยที่มาพนักงานขอลาหยุดบ่อย
เรื่องของแรงงานเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่หลายต่อหลายธุรกิจต้องพบเจอ ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพนักงานลาหยุดงานบ่อย เรียกได้ว่าทำงาน 2 วัน วันที่ 3 ขอหยุด โดยมีต้นตอมาจากการที่ต้องเดินเยอะและยกถาดใส่วัตถุดิบที่มีน้ำหนักมากไปมา

“ด้วยความที่พนักงานของเราเป็นผู้สูงอายุรุ่น 50 กว่าปีขึ้นไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น รูปแบบการทำงานที่ต้องเดินและยกถาดงานไปมาระหว่างแผนก เช่น กลุ่มกรอกหัวเชื้อและกลุ่มอุดฝาที่นั่งห่างกันกว่า 10 เมตร อุดเสร็จก็ต้องยกไปที่จุดเตรียมเข้าเตานึ่ง จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า เพราะต้องยกถาดที่มีน้ำหนักประมาณ 13.3 กิโลกรัมทุกวัน แถมยังใช้เวลาในการเดินต่อวันถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่พนักงานจะเหนื่อยจนต้องลา ยังเกิดความสูญเปล่า และกระทบต่อยอดการผลิต”

รางสไลด์ช่วยชีวิต!
ดังนั้น เมื่อต้องเดินบ่อยเกินไปทุกวัน แถมยังต้องยกถาดที่หนักวันละกว่าร้อยตะกร้า หรือประมาณ 167 ถาด จนเกิดการลางานถี่ๆ การแก้ปัญหาเพื่อลดการเดินการยกจึงตามมา และหาทางออกได้ที่การใช้รางสไลด์ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหลและส่งต่องานกันระหว่างแผนกได้โดยคนไม่ต้องเดินและยกเหมือนที่เคย

“เราไม่ได้ลงทุนอะไรมาก แค่ใช้ท่อพีวีซีมาทำเป็นรางสไลด์ พร้อมใช้กลไกแบบคาราคุริที่ใช้แรงผลักของพนักงานเป็นตัวขับเคลื่อนชิ้นงานให้ไหลไปยังขั้นตอนต่อไป และใช้ความลาดเอียงของรางส่งต่องานและสินค้าระหว่างแผนก ซึ่งทำให้พนักงานสามารถส่งต่องานได้เลยโดยไม่ต้องเดินให้เสียเวลาหรือยกให้เมื่อย”

  • - ลดเวลาทำงานในแผนกเตรียมวัตถุดิบลงได้ 1.30 ชั่วโมง
  • - อัตราการผลิตเพิ่มขึ้น 2,000 ขวด โดยใช้ระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง

การใช้รางสไลด์มาช่วยเชื่อมต่อการทำงานระหว่างแผนก ช่วยทุ่นแรงของพนักงาน ทำให้สุขภาพดีขึ้น อาการเมื่อยล้าน้อยลง ขจัดการลาหยุดงานบ่อย และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจผลิตหัวเชื้อได้กว่า 7,000 ขวด โดยที่พนักงานไม่ต้องทำงานล่วงเวลา เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ผลิตได้ 5,000 ขวด แต่พนักงานต้องทำโอที รวมถึงยังช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 364,000 บาทต่อเดือนอีกด้วย   

บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งพร้อมส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ