เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

42 เนเจอรัลรับเบอร์ เตือนภัย! “ใส่ไม่ยั้งจนล้น” ต้นเหตุสูญเสียวัตถุดิบโดยไม่จำเป็น

24 มีนาคม 2566

42 เนเจอรัลรับเบอร์ เตือนภัย! “ใส่ไม่ยั้งจนล้น” ต้นเหตุสูญเสียวัตถุดิบโดยไม่จำเป็น
แม้จุดประสงค์ของการผลิตหมอนแต่ละใบจะอยู่ที่การผลิตให้ลูกค้าได้หนุนหรือนอนได้อย่างเต็มใบเต็มอิ่ม แต่การใส่น้ำยางลงแม่พิมพ์ในปริมาณที่มากเกินพอดี ได้นำมาสู่ปัญหาใหญ่ที่สร้างของเสียและเสียของให้ คุณัญญา แก้วหนู กรรมการผู้จัดการ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องรีบลุกขึ้นมาหาวิธีแก้ไขก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินแก้

เน้นมากไว้ก่อน = ล้นจนเสียของ
เพราะกลัวได้หมอนไม่เต็มใบ การใส่น้ำยางลงแม่พิมพ์มากกว่าที่คิดจึงเกิดขึ้น จนเป็นที่มาของน้ำยางล้นขณะผลิต เกิดเป็นความสูญเสียที่กระทบต่อต้นทุนโดยตรง

“ในแต่ละรอบการผลิต เราจะกะเผื่อไว้เลยว่าต้องใช้น้ำยางปริมาณเท่าไร เพื่อให้ได้หมอนที่ผลิตออกมาแล้วเต็มใบ แต่บางครั้งเพราะความกลัวพลาด เราเลยเลือกที่จะใส่เยอะๆ ไว้ก่อน หมอนจะได้เต็มใบ ไม่ขาด ไม่แหว่งแน่ๆ ซึ่งกลายเป็นว่าทำให้มีน้ำยางล้นแม่พิมพ์ออกมาเยอะ”

Business Tip : ระวัง! การเน้นมากไว้ก่อน เหลือดีกว่าขาด = เกิดส่วนล้น ส่วนเหลือ สร้างของเสีย/เสียของให้ธุรกิจ


หยุดน้ำยางล้น ด้วยการกำหนด “ปริมาณ”  
ดังนั้น เพื่อให้น้ำยางล้นแม่พิมพ์เหลือน้อยที่สุด ทางบริษัทจึงทำการปรับมาตรฐานการผลิต โดยกำหนดให้ทำการเทน้ำยางลงแม่พิมพ์ครั้งละ 5 กิโลกรัม เพื่อลดปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบและต้นทุนที่เคยต้องเสียไปแบบสุดเจ็บ

“เราต้องกลับมาคิดใหม่เลยว่า ทุกอย่างที่ออกมาจากกระบวนการผลิตหรือของเสียจากการผลิตนั้นคือ สิ่งที่มีต้นทุนทั้งนั้นเลย อย่างในส่วนของน้ำยางพาราที่ล้นออกมาจากแม่พิมพ์ในขณะผลิตก็เช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องทำการกำหนดปริมาณที่จะใส่ลงในแม่พิมพ์ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อลดความสูญเสียต่อการผลิตและธุรกิจให้น้อยลง”
 

Business Tip : การกำหนดปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ให้พอดี = สร้างมาตรฐานการผลิตให้ดีขึ้น + ลดความสูญเสียและต้นทุน


การปรับเปลี่ยนแม้เพียงเล็กน้อย เช่น การกำหนดปริมาณน้ำยางที่จะใส่ลงในแม่พิมพ์แบบนี้ ช่วยให้ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด สามารถลดปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบลงได้ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อหมอนการผลิต 4 ใบ หรือคิดเป็นการลดต้นทุนจากการสูญเสียลงได้ถึง 10 บาทต่อการผลิตหมอน 1 ใบ ซึ่งทำได้ราว 1,200 ใบต่อเดือน คิดเป็น 12,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว   

Business Tip : ปรับมาตรฐานเพียงน้อยนิด = ผลลัพธ์ที่ได้ต่อธุรกิจมีค่ามหาศาล


บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งสามารถส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ