เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค เผยเคล็ด(ไม่)ลับ! “ปรับแพ็กเกจจิ้ง” แก้ปัญหาค่าส่งแพง

17 มีนาคม 2566

เมื่อการขายออนไลน์เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในปัจจุบัน การใช้แพ็กเกจจิ้งที่มีน้ำหนักเยอะ ก็ยิ่งส่งผลทำให้ต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดี อภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเห็ดและอุปกรณ์เพาะเห็ดทุกชนิดแห่งจังหวัดสระบุรี ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์สุดจี๊ดและรู้ซึ้งถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดีไม่แพ้ใคร  

 

เปิดปมขวดแก้ว: กรอกยาก ค่าขนส่งเยอะ
การที่บริษัทใช้ขวดโซดาที่เป็นขวดแก้วทำการบรรจุหัวเชื้อเห็ดเพื่อจำหน่ายมาแล้วกว่า 30 ปี แม้มีข้อดีที่หาซื้อได้ง่าย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่ใช้งานยาก ง่ายต่อการแตก และมีน้ำหนักมาก

“ปัญหาของขวดโซดาก่อนหน้านี้อยู่ที่เวลากรอกข้าวฟ่างและตัดหัวเชื้อลงขวดทำได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้การผลิตต้องใช้เวลานาน ที่สำคัญ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนเข้าสู่การขายออนไลน์ ซึ่งเรามีลูกค้าจากช่องทางนี้กว่า 90% การค้าขายที่เน้นเรื่องของการขนส่งแบบนี้ จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะค่าขนส่งนั้นจะคิดตามน้ำหนักของสินค้า ดังนั้น การใช้ขวดโซดาที่มีน้ำหนักมาก นอกจากจะต้องใช้แรงยกมากตอนผลิตแล้ว ยังทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นด้วย”

ขวดแก้ว = ลูกค้าใช้งานยาก : เชื้อติดข้างขวด เคาะออกไม่ได้

 

แพ็กเกจจิ้งใหม่ถือกำเนิด “ขวดพลาสติก” ใช้ง่าย ค่าส่งถูก

ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาที่กล่าวมาให้หมดไป บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด จึงทำการเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งจากขวดโซดาที่เป็นขวดแก้วมาสู่ขวดพลาสติก เพื่อย่นระยะเวลาการผลิต ลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำลง และตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าให้สะดวกขึ้น

“ขวดพลาสติกแบบนี้มีประโยชน์หลายๆ อย่าง เช่น สามารถตัดเชื้อลงขวดได้ง่ายขึ้น สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือรียูส เพื่อทำอย่างอื่นได้ ที่สำคัญ มีน้ำหนักเบา ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการขนส่งให้น้อยลงได้” 

ขวดพลาสติก = ลูกค้าใช้งานง่าย : ใช้ได้จนถึงหยดสุดท้าย ขวดใหญ่กว่า คุ้มค่ากว่า

 

คิดก่อนเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง!
มาถึงตรงนี้ สำหรับใครที่มองดูแพ็กเกจจิ้งของตัวเองแล้วอยากลองเปลี่ยนดูบ้าง อย่าลืมคิดถึง 5 เรื่องต่อไปนี้

  1. ต้นทุน: แพ็กเกจจิ้งแบบเดิมนั้นต้นทุนอยู่ที่เท่าไร แพ็กเกจจิ้งใหม่นั้นต้องใช้เงินเท่าไร อย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน
  2. วัสดุ: แต่ละแบบทำจากวัสดุอะไร มีแนวโน้มว่าจะเหลือหรือขาดตลาดหรือไม่
  3. การใช้งาน: แบบไหนง่ายต่อการใช้ในกระบวนการผลิตและการใช้งานของลูกค้ามากกว่ากัน
  4. การเจาะตลาด: แบบเก่าหรือใหม่ แบบไหนสามารถตอบโจทย์และความต้องการของตลาดได้มากกว่ากัน
  5. ค่าขนส่ง: แบบไหนหนักหรือเบากว่ากัน / แบบไหนขนส่งได้สะดวกกว่ากัน

การเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งเป็นขวดพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตจาก 5,000 ขวดต่อวัน เป็น 7,000 ขวดต่อวัน และลดต้นทุนด้านการขนส่งให้น้อยลง ซึ่งนับเป็นผลดีต่อต้นทุนโดยรวมทั้งหมดของธุรกิจ

 

บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งพร้อมส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ