เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค เตือนภัย! สต็อกล็อตใหญ่ใครว่าดี? ใช้ไม่หมด ทุนยังจม

27 มกราคม 2566

“สั่งมาเลยทีเดียวจะได้ไม่ต้องสั่งหลายรอบ”

“จ่ายทีเดียวถูกกว่า ลดได้เยอะ”

“ต้องมีของไว้สิ ลูกค้าอยากได้เมื่อไรก็พร้อม”

สิ่งเหล่านี้ที่หลายคนคิดว่าดี แท้จริงแล้วเป็นต้นเหตุให้ธุรกิจต้องเจ็บหนัก! นั่นเพราะของที่เอามากองอยู่ นอกจากจะเสียก่อนใช้ เงินยังจมหายไปทั้งที่ไม่ควรอีกด้วย เหมือนกับที่ อภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเห็ด และอุปกรณ์เพาะเห็ดทุกชนิดแห่งจังหวัดสระบุรี ได้บทเรียนที่ต้องจดจำจากการสั่งวัตถุดิบจัดหนักจัดเต็มแค่ปีละครั้งมาแล้ว

 

คิดง่ายๆ แค่ซื้อๆ มาเก็บไว้

“เมื่อก่อนเราทำการสั่งซื้อข้าวฟ่าง ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักของเราปีละครั้ง ครั้งละเป็นร้อยตัน กองไว้ตั้งแต่ต้นปียันปลายปี โดยคิดแค่ว่าซื้อๆ มาเก็บเอาไว้แค่นั้น แต่ด้วยความที่เป็นสินค้าเกษตร ไหนจะมอด ไหนจะรา และอะไรหลายๆ อย่างในการจัดการที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพที่ดีนัก จึงทำให้ซื้อมาแล้วสต็อกเก็บไว้จนใช้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย”  

  1. สั่งครั้งเดียว = มีข้าวฟ่างในสต็อกมากถึง 144 ตัน
  2. สั่งข้าวฟ่างปีละครั้ง = ต้นทุนสูง 158,400 บาท

Tip : สต็อก = สตางค์ สต็อกไม่ยั้ง = ธุรกิจเจ็บตัว

 

ปรับลดสต็อก = ฆ่าตัวการทำเงินจม พร้อมกำจัดของเสีย

ดังนั้น เมื่อบริษัทสต็อกวัตถุดิบเกินความจำเป็นจนทำให้เกิดเงินจม เกิดของเสียในกระบวนการ และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บมากเกินความเป็นจริง การปรับลดสต็อกจาก “รายปี” สู่ “รายเดือน” จึงถูกนำมาใช้เป็นหนทางกำจัดปัญหายุ่งๆ ที่ว่านี้

“สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องรู้ว่าขายเท่าไร ซื้อมาเก็บเท่าไร และควรจะเก็บเท่าที่เก็บได้ที่เท่าไร เช่น เป็นเดือนต่อเดือน เพื่อให้ง่ายในการสต็อกและลดการสูญเสียของสินค้า ท้ายที่สุดคือเงินไม่จม เราจึงไปดูดีมานด์และซัพพลายในการสั่งซื้อ ในการขาย จากนั้นนำมาคำนวณในการสั่งซื้อวัตถุดิบให้สอดคล้องกับยอดการผลิต และทำการปรับลดสต็อกลงให้สอดคล้องกับยอดผลิตต่อเดือนนั่นเอง”

  1. ผลิต 5,000–7,000 ขวดต่อวัน ทำให้ใช้ข้าวฟ่างในการผลิต 16 ตัน/เดือน
  2. ลดต้นทุนในสต็อกเหลือ 17,600 บาท
  3. ลดของเสียที่จะเกิดในสต็อก
  4. ลดพื้นที่การจัดเก็บลง 90%

Tip : วัตถุดิบไหนสั่งมามากเกินความจำเป็น ควรคิดคำนวณเพื่อปรับลดให้สอดคล้องกับยอดการผลิตที่แท้จริง

 

หมุนเงินได้คล่อง ถ้าสต็อกให้เป็น

“ก่อนหน้าที่จะทำการปรับลดสต็อก เราใช้เงินมาทิ้งลงตรงนี้มากเกินไป จนบางครั้งยอดขายเราดี แต่เราไม่มีเงินทุนพอที่จะไปซื้ออย่างอื่นเข้ามาหมุน ดังนั้น เพื่อให้ดีต่อการสต็อก เราต้องรู้ก่อนว่าเราผลิตเท่าไร และสิ่งที่เราผลิตนั้นต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง เมื่อเรารู้แล้วจะช่วยให้สามารถคำนวณต้นทุนในการจัดเก็บและวิธีในการจัดเก็บวัตถุดิบได้ง่ายกว่า”

  • ลดต้นทุนจมได้กว่า 140,000 บาท

Tip : หมุนเงินได้คล่องมือ แค่รู้จักสั่งวัตถุดิบ/สินค้าให้พอขาย โดยดูปริมาณการสั่งซื้อและการผลิตให้สอดคล้องกัน

บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งพร้อมส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ