เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

บริบูรณ์ คราฟท์ แชร์เทคนิคตามงาน รู้หมดอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใคร!

4 มีนาคม 2566

งานอยู่ที่ใคร ?...ไม่รู้

คนทำไปไหน ?...ไม่รู้

แล้วต้องถามใคร ?...ไม่รู้

ล้วนเป็นคำถามที่มักผุดขึ้นกับธุรกิจที่อาศัยคนในชุมชนเป็นกำลังหลักในการผลิต ซึ่งสร้างความวุ่นวายและทำให้งานหยุดชะงักได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งเป็นงานหัตถกรรม งานฝีมือที่ใช้คนเยอะๆ ในการลงมือทำ ยิ่งสร้างความสับสนในการตามงานได้มากขึ้น ซึ่ง คมกฤช บริบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของที่ระลึกจากไม้ไผ่ ภายใต้แบรนด์ บริบูรณ์ คราฟท์ เคยเจอ มาแล้ว กับตัว

เปิดปม...จุดเริ่มต้นของการตามงานสะดุดหยุดชะงัก

การตามงานเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ทางศูนย์เจอมาเป็นระยะเวลายาวนาน เนื่องจากมีการแบ่งงานส่งไปให้สมาชิกแต่ละคนทำที่บ้าน

“ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่างรับงานไปทำที่บ้านคือ พอว่างๆ ก็มักไปงานบุญ งานบวช หรืออยู่ๆ ก็หยุดงานโดยที่ไม่ได้แจ้งไม่ได้บอกกัน การทำงานจึงหยุดลงและไม่ต่อเนื่อง และตามงานได้ลำบากมากขึ้น”

 

วุ่นขึ้นอีกขั้น...ใครทำไม่รู้ งานอยู่ที่ไหนไม่เห็น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกระเป๋าหนึ่งใบไม่ได้ใช้แค่คนคนเดียวทำ แต่อาจจะ ต้องอาศัยมือ มากถึง 5-6 คน งานที่ส่งไปตามบ้าน จึงกระจายจำนวนกันไปตามความสมัครใจที่ช่างต้องการ

“ เพื่อที่จะตามงานให้ได้ ผมและพี่อีกคนต้องไล่โทร . ถามว่าตอนนี้งานอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร บางทีก็ติดตามงานไม่ได้ เพราะไม่รู้ใครเอาไป เอาไปเป็น จำนวนเท่าไร ไม่มีการเก็บบันทึกที่ชัดเจน และจะได้กลับมาเมื่อไรก็ไม่รู้”


ยุ่งเหยิงจากงานกระจุก...งานล้นมือกระจาย

ไม่ใช่แค่ไม่รู้ว่างานอยู่ไหน แต่การรับงาน ของช่าง ที่เยอะเกินไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดงานกระจุกตัวจนทำไม่ทัน

“ การที่เราไม่เคยเห็นว่า ช่างแต่ละคนรับงานไปเท่าไร ทำให้มันเกินขีดความสามารถของช่างแต่ละคน บางคนบางครั้งก็รับงานเยอะ จนงานไปกระจุกตัว ทำไม่ทัน เราจึง ไม่ได้งานที่ควรจะได้กลับคืนมา”


ตัดทิ้งทุกปัญหาด้วย “บอร์ดติดตามงานเข้า-ออก”

เพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน การจัดทำบอร์ดติดตามงานเข้า - ออก จึงถูกนำมาใช้ ซึ่งจะบอกได้ถึงการวางแผนการผลิตทุกขั้นตอน เห็นได้หมดว่างานชิ้นนี้ทำอยู่ในขั้นตอนไหน อยู่ที่ใคร มีจำนวนเท่าไร และควรจะกลับมาเมื่อไร ซึ่งช่วยให้การติดตามงานทำได้ง่ายขึ้น โดย ไม่มีงานตกค้าง และไร้งานกระจุกตัว

“ แค่มีบอร์ดก็ทำให้เราเห็นได้ว่า งานชิ้นนี้มีจำนวนเท่าไร ส่งไปให้ใคร แยกไปให้คนที่หนึ่ง เป็น จำนวนเท่าไร คนที่สอง เป็น จำนวนเท่าไรได้อย่างชัดเจน ดังนั้น เวลาตามงาน เราก็ไม่จำเป็นต้องทำงานกันแค่สองคนแล้ว เพราะสมาชิกทุกคนที่ทำงานอยู่ร่วมกันสามารถช่วยกันดูได้ และช่วยกันตามได้โดย ที่เรา ไม่ต้องออกปาก ลดความเสียหายและป้องกันไม่ให้เกิดต้นทุนจมในกระบวนการได้ เป็น อย่างมาก แถมยัง ทำให้ รู้ขีดความสามารถของช่างแต่ละคน ซึ่งช่วยให้สามารถกระจายงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับความสามารถของช่างแต่ละคนที่มี หรือ ถ้ามี ทักษะไหนเหลือ คนไหนว่าง เรา ก็สามารถเลือกงานให้ เขา ทำ ได้ อย่างตรงจุด”

 

กระจายงานเหมาะสม ...ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เมื่อรู้ว่าใครมีความสามารถทำงานได้เท่าไร งานก็ไม่กระจุกตัว เพราะสามารถกระจายงานได้อย่างเหมาะสม ตามงานได้อย่างถูกตัว ประสิทธิภาพของการผลิตจึงเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 60% ดีขึ้นเป็น 86% หรือจากที่ผลิตกระเป๋าได้ 160 ใบ /เดือน ก็ขยับเพิ่มเป็น 220 ใบ / เดือนได้นั่นเอง

ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ภายใต้แบรนด์ บริบูรณ์ คราฟท์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งสามารถส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ