เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

พี่ (ลัลณ์ลลิล) สอนน้อง...สูตร 6 “เปลี่ยน” พาธุรกิจเปรี้ยง! ทิ้งห่างคู่แข่ง

7 พฤษภาคม 2565

หลายธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัว Top ของวงการและมีคู่แข่งมากหน้าหลายตา การจะฝ่าฟันและอยู่ให้รอดได้ เจ้าของธุรกิจต้องรู้จัก “เปลี่ยน” ให้เป็น ตามเคล็ดลับของ อภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่คร่ำหวอดอยู่ในวิถีของการเพาะเห็ด อาชีพที่มักตกเป็นตัวเลือกแรกๆ ของคนตกงานหรือย้ายกลับถิ่นฐาน จนเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งแห่งวงการเกษตร

เปลี่ยนระบบการผลิตที่แปรปรวน...เป็นมั่นคง

อยากแข่งขันในตลาดดาวรุ่งให้รอด สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ เรื่องความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรอย่างการเพาะเห็ด ที่บริษัทเปลี่ยนจากการเพาะแบบชาวบ้าน ซึ่งต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศ ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ไม่แน่นอน มาเป็นโรงเรือนแบบระบบปิด เพื่อควบคุมคุณภาพและมีจำนวนผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

เปลี่ยนคู่แข่ง...เป็นคู่ค้า

ทุกย่างก้าวของการทำธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ควรชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะแข่งสู้หรือตั้งรับ ซึ่งต้องดูศักยภาพและความสามารถของตัวเองที่มี เหมือนที่ทางบริษัทเปลี่ยนจากการเพาะเห็ดแบบเดิมเมื่อมีการเข้ามาของคู่แข่งรายใหญ่อย่างจีน มาเป็นการจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดและอุปกรณ์เพาะเห็ดให้กับเกษตรกร ซึ่งได้คู่ค้าใหม่และไม่ต้องแข่งขันทั้งกับจีนและเกษตรกรภายในประเทศ

เปลี่ยนช่องว่างในตลาด...เป็นโอกาส

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การมองภาพให้ออกว่า สินค้าเดิมยังขายได้และขายดีอยู่หรือไม่ หรือจะเป็นสินค้าใหม่ที่มาแรงกว่า เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มีมากขึ้น อย่างลัลณ์ลลิลที่เปลี่ยนจากการเพาะเฉพาะเห็ดฟางสู่เห็ดชนิดอื่นๆ กว่า 20 สายพันธุ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้น

เปลี่ยนความไม่รู้ของคนอื่น...เป็นแต้มต่อของเรา

จุดอ่อนของคนอื่น อาจเป็นจุดแข็งของเรา เช่นเดียวกับทางลัลณ์ลลิลที่เห็นว่า คนเพาะเห็ดส่วนใหญ่ยังเป็นคนรุ่นเดิมและไม่ขยับเข้าสู่การทำออนไลน์ บริษัทจึงเปลี่ยนจุดนี้เป็นแต้มต่อ เลือกขายออนไลน์ก่อนใคร ซึ่งทำให้คนรู้จักง่ายและไว ส่งผลให้ยอดขายเติบโตได้เร็วขึ้น

เปลี่ยนปัญหาธุรกิจ...เป็นจุดที่ต้องติด Speed เร่งพัฒนา

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การมองเห็นปัญหาที่มีในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต แรงงาน หรือการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งทางบริษัทได้แก้ไขให้เป็นระบบ เปลี่ยนทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง

เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งเดิม...เป็นแบบใหม่พร้อมใส่นวัตกรรม

สุดท้ายสิ่งที่ต้องคิดคือ ถ้าของเดิมไม่ตอบโจทย์ ต้องมีการคิดใหม่ ทำใหม่ อย่างของลัลณ์ลลิลที่ทำการเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งที่เป็นขวดโซดา มีน้ำหนักมาก กรอกหัวเชื้อลำบากและค่าขนส่งสูง มาเป็นขวดพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา กรอกหัวเชื้อได้ง่ายและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ พร้อมคิดนวัตกรรมเชื้อเห็ดเหลวที่นำมาร่วมใช้กับแพ็กเกจจิ้งตัวใหม่ ซึ่งช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและลูกค้าใช้สะดวกมากขึ้น

บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ จนสร้างให้ธุรกิจเข้มแข็งและเติบโตมาได้จนถึงวันนี้ โดยเฉพาะการใช้ระบบรางสไลด์ในกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อกำจัดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นและลดการขนย้ายที่สูญเปล่าของพนักงาน ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับลดสต็อกลงให้สอดคล้องกับยอดผลิตต่อเดือน จากเดิมที่สั่งข้าวฟ่างปีละครั้ง ทำให้ต้นทุนสูง 158,400 บาท เกิดของเสียและใช้พื้นที่ในการสต็อกมาก นำมาสู่การมีทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนในสต็อกลดเหลือ 17,600 บาท ลดของเสียที่จะเกิดขึ้นและลดพื้นที่การจัดเก็บลง 90%