เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

Toyota ขอแชร์ : ตอน กำเนิดระบบการผลิตแบบโตโยต้า

17 มีนาคม 2565

กว่าจะมาเป็นระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System : TPS) ที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กันเลยทีเดียว เมื่อยุคสมัยนั้นรถยนต์จากค่ายรถยนต์ของซีกฝั่งตะวันตก เน้นวิธีการผลิตแบบจำนวนมาก เพื่อทำให้เกิดการประหยัดทางขนาด (Economies of Scale) หรือยิ่งผลิตมาก ต้นทุนต่อหน่วยก็ยิ่งลดลง

แต่ด้วยข้อจำกัดของญี่ปุ่นที่เพิ่งฟื้นสงคราม การลงทุนในเครื่องจักรและการผลิตจำนวนมากจึงไม่ตอบโจทย์ธุรกิจหลายข้อ เช่น ผลิตเยอะไป ไม่มีลูกค้า ไม่มีทรัพยากรการผลิต ไม่มีที่จัดเก็บ หรือมีค่าใช้จ่ายด้านการจัดเก็บที่เยอะเกินไป จึงจุดประกายให้ Taiichi Ohno บิดาแห่งระบบการผลิตแบบโตโยต้า ได้เริ่มคิดค้นวิธีการผลิตที่เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้นขึ้นมา และเป็นที่มาของระบบการผลิตที่มุ่งเน้นไปที่การกำจัดความสูญเปล่าเพื่อลดต้นทุน ได้สินค้าที่มีคุณภาพและส่งมอบได้ทันเวลา    

 

4 เสาหลักค้ำจุน TPS

สิ่งที่ทำให้ระบบการผลิตแบบโตโยต้าเดินหน้ามาได้อย่างมั่นคงนั้น ได้แก่

  1. การผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just In Time) คือ การผลิตของที่ใช่ ในปริมาณที่ใช่ และส่งมอบในเวลาที่ต้องการ
  2. การควบคุมคุณภาพหรือทำให้เป็นอัตโนมัติ (Jidoka) คือ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มองเห็นปัญหาได้ง่าย และไม่ปล่อยของเสียส่งต่อสู่กระบวนการถัดไป
  3. การทำให้เป็นมาตรฐาน (Standardise) คือ การสร้างกระบวนการที่ใครก็ทำได้ผลลัพธ์ดีแบบเดียวกัน
  4. การปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) หรือไคเซ็น

และนี่เองคือหัวใจสำคัญของระบบการผลิตแบบโตโยต้าที่มองว่า การจะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบ ซึ่งต้องรวมหลายๆ ระบบเข้าด้วยกัน และนำไปใช้ทุกวันจนเกิดเป็นวินัย ไม่ใช่ใช้เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว